งานที่มีคุณค่าสำหรับแรงงานในภาคประมงและแปรรูปอาหารทะเล

สหภาพยุโรปและองค์การสหประชาชาติคงความพยายามในการส่งเสริมการย้ายถิ่นที่ปลอดภัยสำหรับแรงงานและการสร้างงานที่มีคุณค่าในภาคประมงและแปรรูปอาหารทะเลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Press release | 20 January 2021
©ILO
กรุงเทพฯ (ข่าว ไอแอลโอ) – แรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมประมงและแปรรูปอาหารทะเลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะได้รับประโยชน์จากโครงการใหม่ อันเป็นความพยายามอย่างต่อเนื่องในการส่งเสริมการย้ายถิ่นที่ปลอดภัยและปกติสำหรับแรงงานข้ามชาติในภาคอุตสาหกรรมนี้

โครงการ “สิทธิจากเรือสู่ฝั่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” มีวัตถุประสงค์ในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านกฎหมาย ปกป้องสิทธิแรงงานและเพิ่มขีดความสามารถของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมประมงและแปรรูปอาหารทะเลในประเทศไทย กัมพูชา เมียนมาร์ ลาว อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และเวียดนาม

โครงการมีระยะเวลาดำเนินงาน 4 ปี (ตั้งแต่ปี พ.ศ 2563-2567) โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) องค์การระหว่างประเทศเพื่อการย้ายถิ่นฐาน (ไอโอเอ็ม) และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดีพี) เป็นผู้ดำเนินงานและได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป (อียู) เป็นจำนวน 10 ล้านยูโร หรือ 11.29 ล้านเหรียญสหรัฐ

โครงการนี้เป็นการต่อยอดจากโครงการ สิทธิจากเรือสู่ฝั่ง ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากอียูและเสร็จสิ้นเมือเดือนมีนาคม ปี พ.ศ 2563 โดยโครงการใหม่จะนำประสบการณ์การทำงานในภูมิภาคของหน่วยงานแห่งสหประชาชาติทั้งสามองค์กรเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติและแก้ไขปัญหาต่างๆ อาทิ แรงงานบังคับ การค้ามนุษย์ การจัดหางานที่ไม่ถูกกฎหมายและการเข้าถึงข้อมูลของแรงงาน

โครงการนี้จะทำงานร่วมกับแรงงานข้ามชาติที่เป็นแรงงานในปัจจุบัน ผู้ที่มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นแรงงานข้ามชาติในอนาคตและแรงงานที่กลับเข้ามาทำงานอีกครั้งในภาคประมงและแปรรูปอาหารทะเล รวมถึงครอบครัวและชุมชนของแรงงานในประเทศต้นทางและปลายทาง นอกจากนี้ โครงการยังประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ องค์กรนายจ้าง องค์กรลูกจ้าง หน่วยงานจัดหางาน เจ้าของเรือประมงและสมาคมต่างๆ ภาคประชาสังคมและองค์กรในชุมชนในประเทศต่างๆ

พณฯ ท่าน เปียร์กา ตาปิโอลา เอกอัครราชทูต คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ความร่วมมือของนานาชาติในภูมิภาคนี้จะเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาล ภาคเอกชนและแรงงานที่เกี่ยวข้อง การดำเนินงานของโครงการระดับภูมิภาคโครงการนี้จะรักษาความเชื่อมโยงทางการเมืองระหว่างการประมงที่ยั่งยืนและการปฏิบัติด้านแรงงานที่ดี”

ชิโฮโกะ อาซาดะ มิยากาวะ ผู้อำนวยการของ ไอแอลโอ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค กล่าวว่า “ขณะที่มีความก้าวหน้าด้านการปรับปรุงสภาพการทำงานของแรงงานข้ามชาติในภาคอุตสาหกรรมประมงและแปรรูปอาหารทะเล ความท้าทายต่างๆ ก็ยังคงมีอยู่ โครงการใหม่นี้จะช่วยส่งเสริมให้เกิดแนวทางแก้ไขปัญหาเชิงนวัตกรรม สิทธิและความปลอดภัยในการย้ายถิ่นข้ามชายแดนและในการจ้างงานอันจะนำมาซึ่งอุตสาหกรรมที่มีความเข้มแข็งและการสร้างงานที่มีคุณค่าแก่แรงงานทั้งหญิงและชาย“

เนเน็ท โมตัส ผู้อำนวยการ ไอโอเอ็ม ฝ่ายภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค กล่าวว่า “โครงการนี้จะดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการย้ายถิ่นที่ปกติของแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรมประมงและแปรรูปอาหารทะเล เพื่อให้มั่นใจว่าแรงงานได้รับการจ้างงานผ่านช่องทางที่ถูกต้อง โครงการนี้ยังให้ความสำคัญต่อการเพิ่มความตระหนักรู้เรื่องสิทธิแรงงานและความสามารถของแรงงานในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาเมื่อถูกแสวงประโยชน์หรือค้ามนุษย์”

คริสโตเฟอร์ บาฮูท รองผู้อำนวยการ ยูเอ็นดีพี ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค กล่าวว่า “ผลของการย้ายถิ่นมีความสำคัญต่อการพัฒนาในเอเชียแปซิฟิคและสามารถขยายผลได้เพิ่มมากขี้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นการย้ายถิ่นผ่านช่องทางปกติที่เป็นระเบียบและปลอดภัย ยูเอ็นดีพี ให้ความสำคัญอย่างมากต่อความร่วมมือกับสหภาพยุโรป ไอแอลโอ และไอโอเอ็มภายใต้โครงการนี้ซึ่งจะช่วยให้เราปลดล็อคศักยภาพการย้ายถิ่นและส่งเสริมความก้าวหน้าด้านสังคมและเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ในกลุ่มประเทศผู้ผลิตและส่งออกปลาและผลิตภัณฑ์อาหารทะเลอันดับต้นของโลก ห่วงโซ่อุปทานประมงและอาหารทะเลแปรรูปอาศัยปัจจัยหลายประการที่รวมถึงการจับปลาและการแปรรูปผลิตภัณฑ์บนฝั่งทั้งในระดับปฐมภูมิและทุติยภูมิ แรงงานข้ามชาติเป็นกำลังสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมนี้ในฐานะแรงงานประมงและแรงงานในโรงงานแปรรูป

กรอบการทำงานด้านกฎหมายเพื่อการย้ายถิ่นของแรงงานในภาคประมงและแปรรูปอาหารทะเลยังคงต้องมีการปรับปรุง อันเนื่องจากการจัดหาแรงงานมักดำเนินการผ่านช่องทางที่ไม่ปกติหรือผ่านช่องทางที่ไม่เป็นทางการ แม้ว่าในหลายปีที่ผ่านมาจะเกิดพัฒนาการที่สำคัญแต่ยังปรากฎรายงานเกี่ยวกับปัญหาสัญญาจ้าง การไม่ได้รับค่าจ้างตามกฎหมายกำหนดหรือยึดหน่วงค่าจ้าง ปัญหาเรื่องค่าจ้างรูปแบบอื่นๆ และการถูกบังคับหรือทำงานโดยไม่สมัครใจ นอกจากนี้ การระบาดของโรคโควิด 19 ยังส่งผลกระทบอย่างหนักต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของแรงงานข้ามชาติและครอบครัว โครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่งภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้จะสนับสนุนรัฐบาลและภาคีหุ้นส่วนในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เหล่านี้และเพื่อให้แน่ใจว่าแรงงานข้ามชาติทุกคนที่อยู่ในภาคธุรกิจที่มีความสำคัญทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมนี้จะได้รับการคุ้มครอง

ท่านสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เวบไซท์ www.shiptoshorerights.org